หนังสือ “สันติศึกษากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Peace Studies and Sustainable Development Goals- SDGs)”
เป็นการรวบรวมข้อมูลผลิตและเผยแพร่โดยสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีคุณอุสมาน หวังสนิ เป็นบรรณาธิการ คุณเฟาซ์ เฉมเร๊ะ และคุณอภิชญา โออินทร์ เป็นกองบรรณาธิการ เป็นการรวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่สหประชาชาติได้ให้ความเห็นชอบร่วมกัน 193 ประเทศ 17 เป้าหมาย 169 จุดหมาย และ 230 ตัวชี้วัด ภายใน 15 ปี (2558 – 2573)
โดยเนื้อหาประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1 กรอบแนวคิดระดับสากลและระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ที่ได้จากการสรุปเนื้อหาของการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากการเสวนาประสบการณ์การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และโอกาสในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงปาฐกถาพิเศษ
“ก้าวต่อไปสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเข้าใจ เข้าถึงและความเป็นเจ้าของร่วมกับเป้าหมายต่างๆที่ทุกภาคส่วนจะต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ทางสังคมวงกว้างมากขึ้น และสามารถเชื่อมโยงเข้ากับบริบทต่างๆ ในสังคมได้
ส่วนที่ 2 รูปธรรมการขับเคลื่อน SDGs ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นโดยมีกรณีศึกษาเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในตัวอย่างการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและรูปธรรมที่เกิดขึ้นใน 17 เป้าหมาย โดยมีนายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก ที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนฟันเฟืองการพัฒนาระดับพื้นที่มาอธิบายแนวคิดหลักการและและการใช้นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมพร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดของการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถนำพาชุมชนขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรอบด้าน ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถเห็นมุมมองของนักบริหารท้องถิ่นที่ไม่ติดหล่มกับข้อจำกัด กฎระเบียบและงบประมาณแต่สามารถเห็นการสร้างทางเลือกเพื่อพัฒนาและมุมมองที่หลากหลายสอดแทรกอยู่ในทุกประเด็นที่นำเสนอ
ส่วนที่ 3 เป็นรูปธรรมการจัดการความขัดแย้งและการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สัมภาษณ์ผ่านประสบการณ์การทำงานของผู้นาชุมชนใน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1) คุณสำเริง ราเขต ชุมชนเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา กรณีการจัดการประมง 2) คุณปิยะ แซ่เอีย ชุมชนหาดสมบูรณ์ จังหวัดสุราฎร์ธานี กรณีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร 3) คุณน้อม ฮั้นเย็ก ชุมชนทุ่งตาเสะ จังหวัดตรัง กรณีการจัดการป่าชายเลนชุมชน และ 4) คุณยูหนา หลงสมัน ชุมชนบ่อเจ็ดลูก จังหวัดสตูล กรณีการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งทั้ง 4 ชุมชนนี้มีกรณีความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งที่ต่างกันในรายละเอียด แต่เนื้อหาหลักเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากร และเป็นพื้นที่ตัวอย่างตามแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกทั้งหลายปัญหาก็ได้รับการคลี่คลายโดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งนอกจากจะร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาในระดับท้องถิ่นแล้ว ยังร่วมกันสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อจัดการชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยการผสานความร่วมมือ การปรับตัวของชุมชนและการสร้างโอกาสการพัฒนาร่วมกันของชุมชน
สนใจสั่งซื้อได้ที่งานบริการวิชาการ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 074-289456