![]() |
สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในระดับต่างๆ ได้มีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาการจัดการและบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแนวคิดการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อแก้ปัญหา ผ่านการโดยวิเคราะห์ข้อมูลจากชุมชนโดยตรง
11 พฤศจิกายน 2562
เช้าวันนี้คณะของเราเดินทางออกจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่งโมง ในระหว่างทางเส้นทางยะลา – เบตง ซึ่งเป็นพื้นที่ถนนราบและมีเนินสลับไป และในบางช่วงมีการทำถนนขยายถนนเพื่อเป็นเส้นทางหลักรองรับสนามบินยะลาอีกด้วย
การเดินทางสู่พื้นที่อำเภอธารโต คณะของเราเดินทางจากจังหวัดยะลา ผ่านอำเภอบันนังสตา จนถึงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง เมื่อมาถึงทางคณะที่เดินทางนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา และคณะ ได้พบปะพูดคุยเยี่ยมเยียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่
จากข้อมูลในวิกิพีเดีย (https://th.wikipedia.org/wiki, 2562) พบว่า เดิมอำเภอธารโตอยู่ในการปกครองของตำบลแม่หวาด อำเภอบันนังสตา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้จัดตั้งทัณฑสถานเพื่อกักขังนักโทษทางการเมืองและนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่จัดส่งมาจากทั่วประเทศ และเรียกทัณฑสถานแห่งนี้ว่า "นรกธารโต" ถือเป็นป่าทึบที่ชุกชมไปด้วยไข้ป่าหลบหนีได้ยาก
ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ยกเลิกทัณฑสถานแห่งนี้ใน พ.ศ.2499 เพื่อให้กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองธารโตขึ้น และเปลี่ยนทัณฑสถานดังกล่าวเป็นโรงเรียนขึ้นในปี พ.ศ. 2500 ปัจจุบันยังมีร่องรอยของคุกปรากฏอยู่ เช่น โรงครัว, โซ่ตรวน และได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์คุกธารโต แต่เดิมชาวบ้านแต่เก่าก่อนเรียกบริเวณนี้ว่า ไอร์กือดง หรือ ไอร์เยอร์กระดง เป็นภาษามลายู คำว่า ไอร์ หรือ ไอร์เยอร์ แปลว่า "น้ำ" หรือ "ลำธารใหญ่" ส่วน กือดง หรือ กระดง มีสองความหมายคือ "บริเวณที่ลำน้ำหลายสายไหลมารวมกันเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่" หรือ "พืชมีพิษ" ซึ่งมีมากในแหล่งน้ำดังกล่าว ด้วยเหตุนี้คำว่า ธารโต มาจากชื่อ เรือนจำกลางภาคธารโต เป็นชื่อที่ทางกรมราชทัณฑ์ตั้งขึ้นตามลักษณะภูมิประเทศ สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ เพราะมีลำธารขนาดใหญ่ไหลผ่าน
เมื่อมาถึงพื้นที่ ได้มีการพูดคุยกับนายบาราเฮง ยิมัน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่า อบต.บ้านแหร มีพื้นที่ประมาณ 95 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 7,000 กว่าคน โดยพื้นที่ของตำบลบ้านแหรเกือนทั้งหมดเป็นพื้นที่ในเขตนิคมสร้างตนเองธารโต ลักษณะพื้นที่เป็นพื้นที่เชิงเขาที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำจากเทือกเขาสันกาลาคีรี (ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย) ไหลผ่านหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนโดยใช้ระบบน้ำประปาภูเขา สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าไม้ของตำบลร่อยหรอลงไปมาก เพราะชาวบ้านในพื้นที่บุกรุกเพื่อทำพื้นที่เกษตรกรรม สวนยางพาราและสวนทุเรียน ซึ่งพื้นที่ป่าดงดิบพอมีอยู่บ้างก็คือบริเวณสันเขากาลาคีรี เพราะเป็นพื้นที่ต้นน้ำของชุมชนบ้านแหรและไหลลงเขื่อนบางลางเพื่อลงสู่แม่น้ำปัตตานี
ปัจจัยหลักที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจของพื้นที่ตำบลบ้านแหรคือการทำสวนผลไม้และยางพารา ผลไม้เศรษฐกิจในชุมชนที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ลองกอง ซึ่งมีอยู่ในทุกหมู่บ้าน ปัจจุบันพื้นที่ปลูกต้นลองกองลดจำนวนลง แต่ชาวบ้านจะเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนมากขึ้น ทำให้พื้นที่สวนทุเรียนกับสวนยางพารามีพื้นที่ปลูกสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน รายได้ของชาวบ้านบ้านแหรส่วนใหญ่มาจากการปลูกทุเรียนและขายทุเรียน ซึ่งช่วงหน้าทุเรียน ประมาณเดือนกรกฎาคม – กันยายน ชาวบ้านจะมีรายได้เยอะเพราะผลผลิตออกสู่ตลาดเยอะ ตั้งแต่ต้นกล้าราคาต้นละ 100-300 บาท
ในรอบปีนี้ผลผลิตจากทุเรียนมีจำนวนมาก ประกอบกับราคาดีมาก ทำให้ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่เจ้าของสวน ผู้ดูแลสวน คนรับจ้างโยงกิ่งทุเรียน คนตัดทุเรียน ตลอดจนผู้รับซื้อทุเรียนและการขนส่งมีรายได้กันอย่างถ้วนหน้า จนทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีมาก ซึ่งคาดว่าในปีที่ผ่านมารายได้จากผลผลิตทุเรียน หมู่ที่ 6 บ้านบาตูปูเต๊ะมีมากกว่า 200 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมอีก 10 หมู่บ้าน
สิ่งที่น่าประทับใจในพื้นที่ประกอบกับการจัดการสวัสดิการชุมชนคือการที่ชุมชนจัดทำข้อตกลงชุมชน (ฮูกุมปากัต) ว่าด้วยรายได้จากการขายทุเรียน โดยการมอบรายได้จากการขายทุเรียน 1,000 บาท ต่อการขายที่ได้ 100,000 บาท หรือขายทุเรียนได้ 1,000,000 บาท จะบริจาค 10,000 บาท หรือร้อยละ 1 สำหรับเข้ากองทุนชุมชนเพื่อทำสาธารณะประโยชน์ โดยมีคณะกรรมการมัสยิดประจำหมู่บ้านเป็นผู้ควบคุมดูแล ซึ่งในปีนี้มีกองทุนสาธารณะประโยชน์ชุมชน จำนวน 3 หมู่บ้านแล้ว ได้แก่ หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 โดยเงินในกองทุนแต่ละหมู่บ้านมีถึง 7 – 8 แสนบาทต่อหมู่บ้าน
นอกจากการทำอาชีพชาวสวนยางพาราและสวนทุเรียนแล้ว ในพื้นที่ชุมชนหมู่ที่ 1 จะมีวิถีชีวิตอาชีพดั้งเดิมคือการคั่วกาแฟโบราณ โดยใช้เวลาว่างหลังจากดูแลสวนทุเรียนและกรีดยางเสร็จ การทำกาแฟมีกรรมวิธีการคั่วและการบดแบบดั้งเดิมซึ่งจะทำให้ได้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านแหร ปัจจุบันมีหลายครัวเรือนที่ทำเป็นอาชีพ ในอดีตชาวตำบลบ้านแหรจะปลูกกาแฟแซมระหว่างต้นลองกอง ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์โรบัสต้า แต่ปัจจุบันลดลงมากเนื่องจากลองกองราคาตกต่ำ ทำให้ต้องโค่นทั้งต้นลองกองและต้นกาแฟ
เมื่อต้นพันธุ์กาแฟหมดไป ทำให้เป็นปัญหาเกี่ยวกับวัตถุดิบที่นำมาผลิต ทำให้ในตอนนี้ชาวบ้านที่เคยมีการปลูกต้นกาแฟและนำกาแฟมาคั่วบดขายก็หันมาเริ่มปลูกกาแฟแซมระหว่างต้นยางพาราอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟในตอนนี้ยังไม่มี เพราะอยู่ระหว่างกำลังเพาะปลูก ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 4 ปี จึงจะได้ผลผลิต ทางออกของชุมชนก็คือการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น พัทลุง ตรัง ชุมพร เป็นต้น ทั้งนี้ในเรื่องของการทำกาแฟ อบต.จะสนับสนุนในขั้นเริ่มต้น คือการรวมกลุ่มชุมชนเพื่อจัดทำวิสาหกิจชุมชน แต่เนื่องจากงบประมาณที่มีจำกัดไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องได้ ทาง อบต.มีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์โรงคั่วกาแฟของชุมชน ดำเนินการจัดทำให้เป็นระบบมากขึ้น จัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของตำบล และมีการสาธิตการคั่วกาแฟแบบดั้งเดิมของบ้านแหร ส่งเสริมให้กลุ่มแม่บ้านมีอาชีพที่มั่นคง
“บ้านซาไก” เป็นชื่อหมู่บ้านของตำบลบ้านแหร ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ซึ่งแต่เดิมเป็นชุมชนซาไก ชนพื้นเมืองของพื้นที่เทือกเขาสันกาลาคีรี กว่า 25 ครัวเรือน แต่ปัจจุบันมีเหลือเพียง 1 ครัวเรือนเท่านั้น ซึ่งวิถีชีวิตของชาวซาไกในปัจจุบันมีการปรับตัวใช้ชีวิตเหมือนคนเมืองมากขึ้น จะไม่ได้ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม ชาวซาไกในหมู่บ้านจะได้รับที่ดินพระราชทาน และนามสกุลพระราชทาน นามว่า “ศรีธารโต” จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2516 ณ ปี นั้นมีชาวซาไกอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ประมาณ 25 ครัวเรือน ปัจจุบันเหลือชาวซาไกอาศัยอยู่น้อย เนื่องจากชาวซาไกได้อพยพไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียมากขึ้นเนื่องจากมีสวัสดิการที่ดีกว่า
ในส่วนของการท่องเที่ยว มีการสร้างแพเพื่อท่องเที่ยวในเขื่อนบางลางสู่การชมพื้นที่ป่าบาลาฮาลา บริเวณคลองแม่หวาดเส้นทางไปเบตง ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยมีนักท่องเที่ยวล่องแพ ตกปลา ชมวิว และศึกษานกเงือกในป่าบาลาฮาลา แต่ในส่วนของพื้นที่ท่องเที่ยวในตำบลนั้นยังไม่ได้มีการวางแผนและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนตำบลบ้านแหร ก็คล้ายๆ กับพื้นที่อื่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีจำนวนไม่มากและตลอด 3-5 ปีมานี้เริ่มมีปริมาณที่ลดลง ใน 11 หมู่บ้านมีชุมชนพุทธ 1 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีเหตุการณ์ที่หนักคือปีที่ผ่านมาเมื่อฝ่ายความมั่นคงมาเรียกเก็บตัวอย่าง DNA ทั้งหมู่บ้าน แต่เหตุการณ์ทั่วไปปกติไม่ค่อยมีความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่และเป็นพื้นที่สงบสุขชุมชนหนึ่งด้วย
จะเห็นได้ว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยนั้นปัจจัยสำคัญนอกจากความไว้วางใจของคนในพื้นที่แล้ว การสร้างฐานเศรษฐกิจที่ดีและมั่นคงต่อชุมชนพื้นที่ก็คือรากฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งและการพัฒนาในทุกภาคส่วนของชุมชนได้ยั่งยืน